แหล่งท่องเที่ยว

สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดชัยภูมิ

 

อนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล (แล)

อำเภอเมือง  จังหวัดชัยภูมิ








 อนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล (แล) ชาวบ้านเรียกว่าอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล ตั้ง อยู่กลางวงเวียนศูนย์ราชการ ในตัวเมือง ชาวชัยภูมิได้ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่เจ้าเมืองคนแรกของชัยภูมิ ตามประวัติเล่าว่า ในปี 2360 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 2 นายแล ซึ่งเป็นข้าราชการสำนักเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ ได้อพยพครอบครัวและบริวารข้ามลำน้ำโขง มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านน้ำขุ่น บริเวณอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบัน ต่อมาจึงได้ย้ายชุมชนมาตั้งใหม่ที่โนนน้ำอ้อม บ้านชีลอง ห่างจากตัวเมืองชัยภูมิ 6 กิโลเมตร ได้ส่งส่วยต่อเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ ต่อมาจึงย้ายชุมชนมาอยู่ที่บ้านหลวง ในเขตอำเภอเมืองปัจจุบัน และได้หันมาขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมา ส่งส่วยแก่รัชกาลที่ 3 ไม่ขึ้นแก่เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์อีกต่อไป จึงโปรดเกล้าฯ ยกบ้านหลวงเป็นเมืองชัยภูมิ และแต่งตั้ง ขุนภักดีชุมพล (แล) เป็นเจ้าเมืองคนแรก ของชัยภูมิครั้น พ.ศ. 2369 เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ก่อการกบฎ ยกทัพเข้าตีเมืองนครราชสีมา ขุนภักดีชุมพลพร้อมเจ้าเมืองใกล้เคียง ยกทัพไปสมทบกับคุณหญิงโม ตีกระหนาบทัพเจ้าอนุวงศ์จนแตกพ่าย เจ้าอนุวงศ์เกิดความแค้นจึงย้อนกลับมาจับขุนภักดีชุมพลประหารชีวิต ที่บริเวณใต้ต้นมะขามริมหนองปลาเฒ่า ด้วยความดีที่ขุนภักดีชุมพลมีต่อแผ่นดินไทย จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาภักดีชุมพล (แล) จังหวัดชัยภูมิจัดงานประจำปีเจ้าพ่อพญาแลในราวเดือนมกราคมของทุกปี 

 

 

 

ปรางค์กู่

อำเภอเมือง  จังหวัดชัยภูมิ

 

 

 





  ปรางค์ กู่ ตั้งอยู่ที่บ้านหนองบัว ตำบลในเมือง จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 202 (ชัยภูมิ-บัวใหญ่) ประมาณ 1 กิโลเมตร มีทางแยกขวาเข้าปรางค์กู่ตามทางหลวง 2158 เป็นระยะทางอีก 2 กิโลเมตร ปรางค์ กู่เป็นปราสาทหินสมัยขอม ที่มีแผนผังและลักษณะเช่นเดียวกับปราสาทอื่นที่เป็น อโรคยาศาล หรือสถานพยาบาลที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 นั่นคือ มีปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง 1 องค์ วิหารหรือบรรณาลัยด้านหน้า 1 หลัง ล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง นอกกำแพงตรงมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีสระน้ำ 1 สระ ปรางค์ประธานมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 5 เมตร ย่อมุมไม้สิบสอง ด้านหน้ามีประตูเข้าออกทำเป็นมุขยื่นออกมา ผนังปรางค์อีก 3 ด้านเป็นประตูหลอก เหนือประตูหลอกด้านทิศเหนือยังคงมีทับหลังติดอยู่ จำหลักภาพตรงกลางเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิเหนือหน้ากาล ซึ่งจับท่อนพวงมาลัยไว้ด้วยมือทั้งสองข้าง ด้านหน้ามีทับหลังเช่นกันแต่ลบเลือนไปมาก ที่ช่องประตูหลอกด้านทิศเหนือ มีพระพุทธรูปศิลาปางสมาธิ ศิลปะแบบทวารวดี สูง 1.75 เมตร ประดิษฐานอยู่ โดยเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น ชาวชัยภูมิให้การเคารพสักการะ มีการจัดงานประจำปีในช่วงกลางเดือน 5 ของทุกปี 



 

พระธาตุหนองสามหมื่น

อำเภอภูเขียว  จังหวัดชัยภูมิ









 พระ ธาตุหนองสามหมื่น เป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญและน่าสนใจมากแห่งหนึ่งของชัยภูมิ ตั้งอยู่ที่บ้านแก้ง จากตัวเมืองชัยภูมิเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 201 ผ่านอำเภอภูเขียวไปจนถึงบ้านหนองสองห้องระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2055 อีก 9 กิโลเมตรถึงบ้านแก้งและแยกซ้าย ไปวัดพระธาตุหนองสามหมื่นอีกประมาณ 5 กิโลเมตร พระธาตุหนองสามหมื่น เรียกชื่อตามหนองน้ำ ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัด เป็นพระธาตุที่มีลักษณะสวยงาม และสมบูรณ์ที่สุดองค์หนึ่ง ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่จากลักษณะทางด้านสถาปัตยกรรม และศิลปกรรมที่ปรากฏเกิดจากการผสมผสานกันระหว่างศิลปล้านนา ล้านช้าง และอยุธยา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 21-22 ในสมัยพระไชยเชษฐาธิราชแห่งราชอาณาจักรลาว พระ ธาตุหนองสามหมื่น มีลักษณะเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ตั้งอยู่บนฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีความสูงประมาณ 45 เมตร มีบันไดทางขึ้นทั้งสี่ด้าน เหนือฐานเขียงเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงายรองรับองค์พระธาตุ ซึ่งมีซุ้มทั้งสี่ทิศ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางรำพึง และปางลีลา ภายในองค์พระธาตุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า รูปแบบดังกล่าวอาจเปรียบเทียบได้กับพระธาตุอื่นๆ ทั้งในนครเวียงจันทน์และในเขตไทย เช่น พระธาตุวัดเทพพล เมืองเวียงคุก จังหวัดหนองคาย พระธาตุศรีเมือง นครเวียงจันทน์ เป็นต้น จาก หลักฐานทางโบราณคดีพบว่า บริเวณนี้เคยเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่สมัยทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 ปรากฏร่องรอยของคูน้ำ คันดิน และโคกเนินโบราณสถานหลายแห่ง โบราณวัตถุสำคัญที่พบทั้งในและนอกเขตคูเมืองหลายชิ้น ได้นำมาเก็บรักษาไว้ที่วัด เช่น กลุ่มใบเสมาหินทราย บางแผ่นก็มีจารึกอักษรปัลลวะภาษาสันสกฤต อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-14 และมีแผ่นหนึ่งนำไปตั้งเป็นหลักเมืองประจำอำเภอภูเขียวด้วย นอกจากนี้ยังมีประติมากรรมรูปเคารพอีก 2 ชิ้น สภาพชำรุดชิ้นหนึ่งคล้ายเศียรพระพุทธรูปนาคปรก ในศิลปะขอมแบบบายน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 
         การเดินทาง จาก ตัวเมืองชัยภูมิเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 201 ผ่านอำเภอภูเขียวไปจนถึงบ้านหนองสองห้องระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2055 อีก 9 กิโลเมตรถึงบ้านแก้งและแยกซ้ายไปวัดพระธาตุหนองสามหมื่นอีกประมาณ 5 กิโลเมตร

ใบ เสมาบ้านกุดโง้ง เก็บรักษาอยู่ภายในบริเวณโรงเรียนวัดกุดโง้ง ตำบลกุดตุ้ม จากตัวเมืองชัยภูมิไปตามทางหลวงหมายเลข 202 ประมาณ 12 กิโลเมตร มีทางแยกขวาไปอีก 3 กิโลเมตรถึงบ้านกุดตุ้ม แล้วแยกขวาเข้าเส้นทางสาย กุดตุ้ม-บุ่งคล้า อีก 4 กิโลเมตร ใบเสมาหินทรายศิลปทวารวดีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-15 ที่พบเป็นจำนวนมากในบริเวณรอบๆ หมู่บ้านได้ถูกนำมารวบรวมไว้ในอาคารอย่างเป็นระเบียบ ส่วนมากมีลักษณะเป็นแผ่นใหญ่ ด้านหน้าจำหลักลายและบางแผ่นมีจารึกอยู่ที่ด้านหลังด้วย ลวดลายที่ปรากฏเป็นเรื่องราวทางพุทธศาสนา เล่าเรื่องชาดกตอนต่างๆ หรือเป็นภาพรูปเคารพ เช่น ภาพพระโพธิสัตว์ประทับยืนบนดอกบัว ภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งบนบัลลังก์ใต้ต้นโพธิ์ นับเป็นกลุ่มเสมาที่สวยงามแห่งหนึ่งในอีสาน 





อุทยานแห่งชาติไทรทอง

อำเภอหนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ
















อุทยาน แห่งชาติไทรทอง ครอบคลุมพื้นที่ป่าบนเทือกเขาพังเหย ในอำเภอหนองบัวระเหว เทพสถิต ภักดีชุมพล และหนองบัวแดง มีเนื้อที่ 319 ตารางกิโลเมตร เป็นป่าต้นน้ำลำธารของลำห้วยหลายสาย ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำชี สภาพป่าเป็นป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ผสมกับป่าเบญจพรรณ มีต้นไผ่รวกขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์สวยงาม ภายในเขตอุทยานฯ มีสถานที่น่าสนใจคือ

        น้ำตกไทรทอง ห่าง จากที่ทำการ 1 กิโลเมตรไปตามทางรถยนต์และเดินเท้าอีก 400 เมตร เป็นน้ำตกชั้นเตี้ยๆ สูงเพียง 5 เมตรแต่มีความกว้างประมาณ 80 เมตร ด้านหน้าเป็นแอ่งน้ำใหญ่ สามารถลงเล่นน้ำได้ เหนือน้ำตกมีวังน้ำขนาดใหญ่เรียกว่า วังเงือก สายน้ำไหลไปตามแก่งหินที่ลาดต่ำลงที่ละน้อย มีความยาวไม่ต่ำกว่า 100 เมตร

        น้ำตกชวนชม อยู่เหนือน้ำตกไทรทองไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ 2 กิโลเมตร น้ำตกมีความสูง 20 เมตร รอบบริเวณมีต้นไม้ร่มรื่น

        ผาพ่อเมือง เป็น แนวหน้าผาตามสันเขาพังเหยด้านตะวันตก ตามเส้นทางขึ้นสู่ทุ่งบัวสวรรค์ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 700-900 เมตร มองลงไปเป็นตัวอำเภอภักดีชุมพลและเทือกเขาพญาฝ่อ ที่กั้นระหว่างชัยภูมิกับเพชรบูรณ์

        ผาหำหด ห่าง จากที่ทำการอุทยานฯประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นสันเขาตรงจุดสูงสุดของเทือกเขาพังเหย สูงจากระดับน้ำทะเล 864 เมตร เป็นจุดชมวิวมองเห็นทิวทัศน์สวยงาม และมีชะง่อนหินยื่นออกไปจากหน้าผา เป็นจุดที่ถ่ายภาพได้สวยงามน่าหวาดเสียว

        ทุ่งบัวสวรรค์ หรือ ทุ่งดอกกระเจียว อยู่ ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 12 กิโลเมตร ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนสิงหาคม ต้นกระเจียวจะออกดอกสวยงามเต็มทุ่ง มีทั้งดอกสีชมพูและสีขาว นอกจากนี้ ในช่วงฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคมบริเวณนี้จะมีพรรณไม้จำพวกดุสิตา สร้อยสุวรรณา กระดุมเงิน กระดุมทอง ขึ้นอยู่ทั่วบริเวณ การเดินทางไปทุ่งดอกกระเจียวสามารถขับรถ หรือเช่ารถกระบะจากที่ทำการอุทยานฯ ไปยังลานจอดรถและลานกางเต็นท์ ระยะทาง 9 กิโลเมตร ค่าเช่ารถคันละ 500 บาทและจากนั้นเป็นเส้นทางเดินเท้าผ่านผาพ่อเมือง ผาหำหด ผาเพลินใจ ทุ่งบัวสวรรค์ 2 (ดอกกระเจียวสีชมพู) ทุ่งดอกกระเจียวขาว ผาอาทิตย์อัสดง ตามลำดับ ระยะทางเดินเท้าจากลานจอดรถไปผาหำหด 300 เมตร และไปทุ่งบัวสวรรค์สีชมพูและสีขาว เป็นระยะทางอีก 1,300 เมตร และ 700 เมตร ตามลำดับ ช่วงที่มีดอกกระเจียวเป็นช่วงฤดูฝน ควรเตรียมร่มหรือเสื้อกันฝนติดตัวไปด้วย

        จุดชมวิวเขาพังเหย อยู่ ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 225 (ชัยภูมิ-นครสวรรค์) ประมาณกิโลเมตรที่ 70 เป็นที่แวะพักรถยนต์และชมทิวทัศน์ของผืนป่าและแนวสันเขาสลับซับซ้อนของเขา พังเหย เมื่อมองลงไปเบื้องล่างจะเห็นที่ราบภาคกลางในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นบริเวณ กว้าง โดยเฉพาะในช่วงยามเย็นที่อาทิตย์จะอัสดง

อุทยานฯ มีบ้านพักรับรองและสถานที่กางเต็นท์พักแรม และร้านอาหารบริการ ติดต่ออุทยานแห่งชาติไทรทอง ตู้ ปณ. 1 อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ 36230 โทร. 08 9282 3437 www.dnp.go.th

        การเดินทาง จากตัวเมืองชัยภูมิใช้ทางหลวงหมายเลข 225 (ชัยภูมิ-นครสวรรค์) ประมาณ 65 กิโลเมตร มีป้ายบอกทางแยกขวาไปที่ทำการอุทยานฯอีก 7 กิโลเมตร

 

 

 

 

อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม

อำเภอเทพสถิต จ.ชัยภูมิ












        อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม ตั้ง อยู่บนเทือกเขาพังเหย ภูมิประเทศเป็นเนินเขาสลับซับซ้อน ระดับความสูงประมาณ 200-800 เมตรจากระดับน้ำทะเล ปกคลุมด้วยป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ มีความหลากหลายของระบบนิเวศและมีไม้ดอกจำพวกดุสิตา เอนอ้าและกล้วยไม้ ขึ้นอยู่จำนวนมาก จุดท่องเที่ยวในเขตอุทยานได้แก่

        ลานหินงาม เป็น บริเวณที่มีโขดใหญ่รูปร่างแปลกๆ กระจายอยู่เต็มไปหมดในเนื้อที่กว่า 10ไร่ เกิดจากการกัดเซาะของเนื้อดินและหินเป็นรูปลักษณ์แตกต่างกัน สามารถจินตนาการเป็นรูปต่าง ๆ เช่น หินรูปตะปู รูปเรด้าร์ รูปแม่ไก่ รูปถ้วยฟีฟ่า ฯลฯ 

        ทุ่งดอกกระเจียว หรือ ทุ่งบัวสวรรค์ เหมาะ มาเที่ยวชมในช่วงฤดูฝนประมาณเดือนมิถุนายน-สิงหาคม บนท้องทุ่งหญ้าเพ็กสีเขียวจะมีดอกกระเจียวสีชมพูอมม่วงขึ้นแซมอยู่ทั่วไป มองดูสวยงามมาก ห่างจากที่ทำการอุทยานประมาณ 1 กิโลเมตร

        ผาสุดแผ่นดิน ห่าง จากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นจุดที่สูงที่สุดของเทือกเขาพังเหย ห่างจากที่ทำการอุทยานราว 2 กิโลเมตร มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 846 เมตร เป็นแนวหน้าผาซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างภาคกลางและภาคอีสาน ที่จุดชมวิวสุดแผ่นดินจะมองเห็นทิวทัศน์สันเขาสลับซับซ้อน และมีสายลมพัดเย็นสบายตลอดวันบริเวณ จุดท่องเที่ยวทั้งสามแห่งมีทางราดยางเข้าถึง โดยทางอุทยานฯได้จัดทำลานจอดรถบริเวณจุดท่องเที่ยวแต่ละแห่ง จากลานจอดรถนักท่องเที่ยวต้องเดินไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่จัดทำไว้ โดยทางเดินไปทุ่งดอกกระเจียวจะเชื่อมต่อกับจุดชมวิวสุดแผ่นดิน ใช้เวลาเดินท่องเที่ยวประมาณ 1 ชั่วโมง
        ที่พัก อุทยาน แห่งชาติป่าหินงามมีบ้านพักและสถานที่กางเต็นท์สำหรับนักท่องเที่ยว ติดต่ออุทยานแห่งชาติป่าหินงาม ตู้ปณ. 2 ปทจ. เทพสถิต จ. ชัยภูมิ 36230 โทร. 0 4489 0105 หรือ กรมป่าไม้ กรุงเทพฯ โทร. 0 2562 0760 รายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ที่ www.dnp.go.th/parkreserve 

นอกจากนี้ ยังมีที่พักเอกชนบริเวณใกล้อุทยานฯ อีกหลายแห่ง
        การเดินทาง อุทยาน แห่งชาติป่าหินงามอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 270 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-สระบุรี-พุแค-ลำนารายณ์-เทพสถิต ระยะทาง 240 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายที่วะตะแบก อำเภอเทพสถิตเข้าไปอีก 30 กิโลเมตร หรือใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-สระบุรี-สีคิ้ว-ด่านขุนทด (ทางหลวงหมายเลข 2217) ผ่านวัดบ้านไร่ เลี้ยวซ้ายไปอำเภอเทพสถิต 
หาก เดินทางจากตัวเมืองชัยภูมิ ใช้เส้นทางสายจตุรัส-บำเหน็จณรงค์-เทพสถิต ระยะทางห่างจากชัยภูมิประมาณ 100 กิโลเมตร ถึงบ้านวะตะแบกแยกขวาไปอีก 30 กิโลเมตร นอกจากนี้ จากทางหลวงหมายเลข 225 (ชัยภูมิ-นครสวรรค์) บริเวณอำเภอหนองบัวระเหวก็มีทางแยกไปซับใหญ่และต่อไปยังอุทยานฯ ได้เช่นกัน

ผู้ ที่เดินทางโดยรถประจำทาง สามารถใช้บริการรถสองแถว ซึ่งจอดรับส่งนักท่องเที่ยวอยู่ที่ปากทางบริเวณวะตะแบก เข้าไปยังตลาดใกล้ที่ทำการอุทยาน ในช่วงเทศกาลดอกกระเจียวบาน มีบริการรถสองแถววิ่งรับส่งนักท่องเที่ยว ตามจุดท่องเที่ยวต่างๆ ภายในบริเวณอุทยานฯ ด้วย





มอหินขาว

อำเภอเมือง จ.ชัยภูมิ









 มอ หินขาว เป็นแหล่งท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติภูแลนคา ตั้งอยู่ที่บ้านวังคำแคน หมู่ 9 ตำบลท่าหินโงม อำเภอเมือง เป็นกลุ่มหินทรายสีขาวขนาดใหญ่กลางทุ่งหญ้าบนเนินเขา มองเห็นได้เด่นชัดในระยะไกล ลักษณะคล้ายสโตนเฮ็นจ์ (Stonehenge) ของประเทศอังกฤษ มีอายุระหว่าง 197-175 ล้านปี เกิดจากการสะสมของตะกอนทรายแป้ง และดินเหนียวจากทางน้ำ ต่อมาสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง การตกตะกอนเปลี่ยนเป็นทราย ในสภาวะอากาศแบบแห้งแล้งกึ่งร้อนชื้น ทับถมลงบนตะกอนทรายแป้งและดินเหนียวที่เกิดก่อน จึงแข็งตัวกลายเป็นหิน หลังจาก 65 ล้านปีที่ผ่านมา เกิดการเคลื่อนไหวของเปลือกโลกจากแรงบีบด้านข้างทำให้มีการคดโค้ง แตกหัก ผุพังและการกัดเซาะทั้งในแนวตั้งและแนวนอน ก่อให้เกิดลักษณะของเสาหินและแท่งหินอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งมีรูปร่างและลักษณะแตกต่างกันออกไป ตามจินตนาการของผู้พบเห็น บริเวณรอบๆนั้นยังมีกลุ่มหินอีกหลายแห่งซึ่งสามารถเดินศึกษาธรรมชาติได้ ทั้งยังเป็นพื้นที่ศึกษาสังคมของพันธุ์พืชต่างๆ สัตว์ป่าขนาดเล็ก แมลงและเป็นแหล่งป่าต้นน้ำลำธารภูแลนคาซึ่งชาวบ้านทำฝายกั้นน้ำกักเก็บไว้ ใช้
        การเดินทางไป ชมแหล่งท่องเที่ยวผามอหินขาว จากตัวจังหวัดชัยภูมิ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2051 ถนนสายชัยภูมิ – ตาดโตน เป็นทางลาดยางระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายก่อนถึงด่านของอุทยานแห่งชาติตาดโตน ตามถนนตาดโตน – ท่าหินโงม เป็นทางลาดยางประมาณ 12 กิโลเมตร แยกซ้ายตามถนนแจ้งเจริญ – โสกเชือก เป็นทางลูกรัง ระยะทาง 6.5 กิโลเมตรถึงบ้านวังคำแคน จากนั้นเลี้ยวขวาตรงบ้านวังคำแคน เป็นทางลูกรังใช้สำหรับขนพืชไร่อีกประมาณ 3.5 กิโลเมตร ถึง กลุ่มหินชุดแรกของ มอหินขาว รวมระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตรจากตัวเมือง ในช่วงฤดูฝนควรใช้รถยนต์ประเภทรถกระบะหรือรถขับเคลื่อนสี่ล้อ เพื่อความเหมาะสมกับเส้นทาง ถัดจากกลุ่มหินชุดแรกไปเล็กน้อยจะถึงบริเวณลานกางเต็นท์ มีห้องน้ำบริการ จากจุดนี้มีเส้นทางเดินไปยังกลุ่มหินและจุดชมวิว ได้แก่ หินเจดีย์โขลงช้าง ระยะทางเดินเท้า 650 เมตร ลานหินต้นไทร 900 เมตร สวนหินล้านปี 1,250 เมตร และจุดชมวิวผาหัวนาค 2,500 เมตร 








น้ำตกเทพพนา

อำเภอเทพสถิต จ.ชัยภูมิ









    น้ำตก เทพพนา อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของที่ทำการอุทยานฯ ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดกลาง เกิดจากลำห้วยกระโจนที่ไหลจากเทือกเขาพังเหย แบ่งเป็นสามชั้นลดหลั่นกัน ชั้นบนสุดมีความสูงประมาณ 2-3 เมตร ชั้น 2 สูงประมาณ 2-3 เมตร และชั้นสุดท้ายมีความสูงประมาณ 6 เมตร จะมีน้ำเฉพาะในช่วงฤดูฝน 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น